Gadget Reviews

รีวิว Keychron K8 (Hot-swap)

ช่วงแรกที่ผมกำลังหาคีย์บอร์ดไร้สายมาใช้งาน ก็ได้มองหาคีย์บอร์ดแบบ ‘tenkeyless’ (ไม่มีแป้นตัวเลขด้านขวา) เพื่อลดการเมื่อยของมือขวาและประหยัดที่บนโต๊ะ อีกทั้งไหนๆ จะซื้อแล้วก็มองเป็นแบบ mechanical ไปด้วยเลย สรุปแล้วจึงลงเอยที่ Keychron K8 ที่เปิดจองในเวลาเดียวกันนั้นเอง

รีวิวนี้ใช้ Keychon K8 White Backlight (Hot-swappable) Gateron Brown ที่ผู้รีวิวเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง

ดีไซน์และการวางมือ

เปิดไฟแบ็คไลท์เต็มที่

Keychron K8 มีดีไซน์คล้ายกับ Keychron รุ่นอื่นๆ เลย จะมาพร้อมกับแป้นพิมพ์พลาสติก ABS สีเทาแบบด้าน และมีปุ่ม ESC สีส้มเด่นออกมา โดยส่วนตัวก็รู้สึกว่าเป็นสีที่เรียบๆ ดี แต่ตัวอักษรค่อนข้างจาง มองได้ยากเล็กน้อยถ้าไม่เปิดไฟแบ็คไลท์

วัสดุตัวโครงคีย์บอร์ดนั้นก็เป็นพลาสติกเช่นกัน แต่เก็บงานได้ดีและดูแข็งแรงทนทาน อาจจะด้วยเพราะน้ำหนักด้วยส่วนหนึ่ง (ประมาณเกือบเท่า iPad สองเครื่อง)

ด้านล่างมีขารองแบบแยกสองระดับ ถ้าดึงอันเล็กออกมาก็จะยกคีย์บอร์ดขึ้นมาน้อยกว่าอันใหญ่เล็กน้อย สำหรับผมแล้วรู้สึกว่าอันใหญ่จะให้ความสูงที่พอเหมาะดี

ความสูงของคีย์บอร์ด เมื่อนับจากพื้นจนถึงยอดของแป้นพิมพ์อยู่ที่ 35 มม. หรือประมาณ 1 นิ้วกว่า ก็ไม่ได้ถึงกับว่าจะพิมพ์ไม่สบายเลยถ้าไม่ใช้ที่รองมือ แต่การใช้ที่รองมือก็จะทำให้สบายข้อมือกว่าอย่างแน่นอน

การใช้งาน

บางคนอาจจะเข้าใจว่า Keychron เป็นคีย์บอร์ดสำหรับแมคอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่เลย Keychron ก็เป็นคีย์บอร์ดปกติที่ใช้กับอุปกรณ์อื่นได้เหมือนคีย์บอร์ดยี่ห้ออื่น อันที่จริงตัว Keychron K8 เองมาพร้อมสวิตช์สำหรับปรับโหมดโดยเฉพาะ ว่าจะใช้เป็น วินโดวส์/แอนดรอยด์ หรือ แมค/iOS ซึ่งเมื่อเปลี่ยนโหมด ก็จะเป็นการเปลี่ยนเลย์เอาท์ของแป้นให้เหมาะสมกับแต่ละระบบ

ทั้งบนแมค วินโดวส์ แอนดรอยด์ และ iOS สามารถใช้ปุ่มฟังก์ชันแถวบนเช่น เปลี่ยนเพลง ปรับเสียง และ voice assistant ได้ แต่บนวินโดวส์จะยกเว้นไว้หนึ่งปุ่มที่ไม่สามารถใช้งานได้ คือปุ่มแคปหน้าจอ ส่วนแอนดรอยด์ก็ไม่สามารถใช้ปุ่ม voice assistant ได้ (ต้องใช้ปุ่ม Option หรือ Windows แทน)

Keychon K8 รองรับการใช้งานทั้งแบบไร้สายผ่านบลูทูธ และแบบมีสายผ่าน USB Type-C ซึ่งในกล่องก็มีสาย USB Type-C to Type-A แบบถักมาให้หนึ่งเส้น หากจะใช้งานในโหมดไร้สายหรือมีสายก็เพียงสลับสวิตช์ด้านซ้ายของคีย์บอร์ดไปในโหมดดังกล่าว สำหรับโหมดบลูทูธจะสามารถกดสลับไปมาได้สูงสุด 3 เครื่อง ด้วยการกด Fn + 1 หรือ 2, 3

Keychron K8 ตัวนี้เป็นสวิตช์ Gateron Brown ก็จะให้ความรู้สึกที่มีฟีดแบ็คเล็กน้อยเวลากดแป้นลงไป ให้ได้รู้สึกว่ามีการกดลงไปสำเร็จแล้ว สวิตช์แบบ Brown นี้ก็จะเหมาะสำหรับคนที่เน้นการพิมพ์ อยากได้ฟีดแบ็คเวลากด แต่ก็ไม่อยากได้เสียงที่ดังแบบสวิตช์ Blue

การพิมพ์สามารถทำได้คล่องมือและพิมพ์ได้เร็วกว่าคีย์บอร์ดแบบ chiclet ธรรมดา อาจจะเป็นเพราะด้วยระยะการกดที่สามารถกดลงไปได้มากกว่าแบบ chiclet ก็ได้ (ไม่รู้ว่าเกี่ยวหรือเปล่า) แต่โดยรวมให้ความรู้สึกที่พิมพ์สนุกดี แม้ในช่วงแรกๆ จะมีพิมพ์ผิดเยอะหน่อยเพราะแป้นค่อนข้างนิ่มกว่าคีย์บอร์ดแบบ chiclet ที่คุ้นเคย ส่วนตัวแป้นมีการโยกเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้ถือเป็นข้อเสียหรือแย่อะไร

เสียงของคีย์บอร์ดถือว่ารื่นหู แต่ก็ดังกว่าคีย์บอร์ด chiclet พอสมควร สำหรับตัว Keychron K8 นี้ ไม่ได้มีเสียงฝืดแปลกๆ ที่แป้นใหญ่อย่าง space bar หรือ enter แต่อย่างใด

แบ็คไลท์ LED

Keychron K8 มีไฟ LED ที่สามารถปรับความสว่างได้ 4 ระดับ มีความสว่างในระดับโอเค ไม่สว่างจ้า น่าจะเป็นที่ตัวแป้นพิมพ์ที่ปล่อยแสงลอดออกมาได้ไม่สุด สำหรับเอฟเฟ็กต์ของไฟนั้นก็มีมาให้ 18 แบบ สามารถกดเปลี่ยนได้จากบนคีย์บอร์ด

เปิดไฟแบ็คไลท์เต็มที่

เปลี่ยนสวิตช์แบบ Hot-swap

สำหรับ Keychron K8 รุ่น Hot-swappable เราจะสามารถถอดสวิตช์ออกมาได้เลยโดยไม่ต้องยุ่งกับการบัดกรีแผงวงจรหรือถอดชิ้นส่วนออกมาประกอบใหม่ ภายในกล่องจะมีที่คีบมาให้ เราสามารถคีบตัวล็อกของสวิตช์เพื่อดึงสวิตช์ขึ้นมาได้เลย และเวลาจะใส่กลับลงไปก็สามารถใช้มือเปล่ากดลงไปให้เข้าล็อกได้โดยง่าย

แบตเตอรี่

Keychron K8 มีแบตเตอรี่ขนาด 4000 mAh ที่โฆษณาว่าใช้งานได้ 68 ชั่วโมงแบบเปิดแบ็คไลท์ ทั้งนี้การใช้งานจริงไม่ได้ทดสอบแบบจริงจังว่าถึงตามที่โฆษณาหรือไม่ เนื่องจากมีการเสียบชาร์จเป็นระยะอยู่แล้ว แต่ที่ใช้งานมาก็พบว่าในหนึ่งวันทำงานก็สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องชาร์จเลย

สรุป

Keychron K8 เป็นคีย์บอร์ด mechanical ไร้สาย เลย์เอาท์ tenkeyless ที่น่าสนใจ ด้วยทั้งการรองรับการเชื่อมต่อบลูทูธกับอุปกรณ์สามเครื่องที่กดสลับไปมาได้ง่าย รองรับการใช้งานแบบมีสาย มีเอฟเฟ็กต์ LED หลายแบบ พิมพ์ได้ดีและสนุก แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน และรองรับการถอดเปลี่ยนสวิตช์ จะมีข้อสังเกตหน่อยที่ว่าค่อนข้างสูงกว่าคีย์บอร์ดยี่ห้ออื่น โดยรวมแล้วเป็นคีย์บอร์ดที่ใช้งานได้ดีและคุ้มค่ากับค่าตัวประมาณ 2,7xx บาท (ณ วันที่จอง)

Keychron K8
  • การใช้งาน
  • ความคุ้มค่า
  • ดีไซน์
  • แบตเตอรี่
4.8

สรุป

เป็นคีย์บอร์ด mechanical ไร้สายแบบ TKL ที่ใช้งานได้ดี ราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น มาพร้อมการประกอบที่ทนทานและการพิมพ์ที่มั่นคง แต่คีย์บอร์ดค่อนข้างสูงจึงควรใช้ที่รองมือด้วย

Sending
User Review
4.75 (4 votes)

About author

A software developer who likes journalism
Related posts
News

แอปเปิลเปิดขาย Magic Keyboard ใหม่สำหรับ iPad Pro

Gadget ReviewsNews

รีวิวเลนส์ Anamorphic ราคา 800 บาทสำหรับมือถือ

News

คีย์บอร์ด Grammarly เปิดให้ดาวน์โหลดบนแอนดรอยด์แล้ว

News

LINE ออกแอพคีย์บอร์ดสติ๊กเกอร์สำหรับ iOS