Article

ทำไมเอเชียตะวันออกใช้เทคโนโลยีรับมือ COVID ได้มีประสิทธิภาพ

Macau students return to School

หลายประเทศมีการรับมือการระบาดของโรค COVID-19 ที่แตกต่างกันไป นักวิชาการทั่วโลกต่างจับตาประเทศที่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพว่าเกิดจากปัจจัยใด สิ่งที่น่าสนใจคือประเทศเหล่านี้ต่างอยู่ในเอเชียตะวันออก

บทความจาก Harvard Business Review ได้เผยแพร่การวิเคราะห์ว่าประเทศที่ควบคุมและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีสิ่งใดที่เหมือนกัน

คำตอบส่วนหนึ่งก็คือประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ต่างก็อยู่ในเอเชียตะวันออกทั้งสิ้น ซึ่งอาจมีวัฒนธรรมที่เห็นแก่ส่วนรวม (collectivist) และพร้อมจะปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมโรคของรัฐบาล

นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีในการติดตามการแพร่กระจายของไวรัสและการเดินทางของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง การติดตามการเดินทางเช่นนี้เป็นปัญหาด้านความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นความกังวลใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกมากกว่าในสังคมเอเชียตะวันออก

ปัจจัยที่ทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีติดตามการระบาดเช่นนี้ มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ (technology adoption), ระบบโครงสร้างทางดิจิทัล และ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างรัฐและธุรกิจ

การนำเทคโนโลยีมาใช้

เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งและใช้งานแอปพลิเคชันติดตามตัวลงบนโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นด้วยความสมัครใจหรือการบังคับใช้ ซึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกดูจะเห็นว่าเป็นความจำเป็นมากกว่าความสมัครใจ

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชัน TraceTogether ซึ่งใช้บลูทูธในการตรวจจับการเข้าใกล้บุคคลอื่น เพื่อติดตามประวัติการใกล้ชิดผู้ป่วย

รัฐบาลฮ่องกงมีการบังคับให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศต้องกักตัว 14 วันและสวมสายรัดข้อมือที่เชื่อมต่อกับแอป StayHomeSafe บนมือถือ เพื่อดูว่ามีการออกนอกพื้นที่กักตัวหรือไม่

ในประเทศตะวันตก ประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวถือเป็นเรื่องใหญ่

ที่เกาหลีใต้มีนักพัฒนาอิสระได้พัฒนา Corona 100m แอปแจ้งเตือนว่าผู้ป่วยมีประวัติการไปสถานที่ใดบ้าง โดยแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ใกล้สถานที่นั้นในระยะ 100 เมตร แอปดังกล่าวนี้ได้รับการดาวน์โหลดถึง 1 ล้านครั้งในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ด้านไต้หวัน ประเทศที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศในการรับมือกับ COVID-19 ก็มีการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยจะมีเจ้าหน้าที่โทรหาผู้ที่กักตัวอยู่วันละสองครั้งเพื่อยืนยันว่ากำลังกักตัวอยู่จริง มิใช่แค่ทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน

ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของระบบติดตามตัวที่ได้จากผู้ใช้จำนวนมาก คือสิ่งสำคัญที่ทำให้การติดตามการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีผู้ใช้จำนวนน้อย อาจมีข้อมูลไม่เพียงพอให้ติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศในตะวันตก ที่ประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวถือเป็นเรื่องใหญ่

ระบบโครงสร้างทางดิจิทัล

เกาหลีใต้มีบทเรียนจากการรับมือกับโรค MERS เมื่อปี 2015 ทำให้ในสถานการณ์ COVID-19 รัฐบาลมีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นจำนวนมาก เช่น ประวัติการเดินทางของผู้ป่วย ซึ่งจากผลสำรวจประชาชน 1,000 คนพบว่าส่วนใหญ่สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้

ระบบตอบสนองภัยพิบัติที่พร้อมใช้งาน สามารถเพิ่มเวลาในการจัดการกับโรคระบาด

ใต้หวันได้พัฒนาระบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้อนข้อมูลประวัติการเดินทางย้อนหลัง 14 วันของผู้ป่วยพร้อมทั้งข้อมูลระบุตัวตน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้งานต่อในระบบติดตามตัวผ่านมือถือ นอกจากนี้ยังมีระบบที่ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงได้กรอกประวัติผ่านโทรศัพท์มือถือเมื่ออยุ่ที่สนามบิน แล้วจะได้รับบัตรผ่านยืนยันผ่านทาง SMS เพื่อแสดงต่อด่านตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งยังทำให้โรงพยาบาลและคลินิกได้รับประวัติการเดินทางที่รวดเร็วด้วย

ตัวอย่างจากทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันแสดงให้เห็นว่า การมีระบบตอบสนองภัยพิบัติที่พร้อมใช้งาน สามารถเพิ่มเวลาในการจัดการกับโรคระบาดและกำหนดเส้นทางของประเทศได้

ด้านประเทศจีนแม้จะไม่ได้เพิ่มระบบใดในการรับมือโรคระบาด แต่ก็มีการใช้ระบบการสอดแนมเดิมที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ติดตามผู้ที่ติดเชื้อ อีกทั้งบริษัทเอกชนอย่าง SenseTime และ Megvii ที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า ก็ได้พัฒนาระบบการวัดอุณหภูมิแบบไร้สัมผัส ที่มีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย

การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างรัฐและธุรกิจ

ในประเทศจีนมีการใช้งานระบบต่างๆ ของ WeChat อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ ระบบชำระเงิน ระบบส่งอาหาร ระบบเรียกรถ หรือระบบสาธารณสุข ทำให้ WeChat มีข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้

WeChat มีข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้

Alipay ได้เพิ่มระบบ Alipay Health Code ในการกำหนดว่าสิทธิในการเดินทางของผู้ใช้ โดยแบ่งเป็นสามระดับ คือ สามารถเดินทางได้, เดินทางได้แต่ต้องกักตัว 7 วัน และ เดินทางได้แต่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ก็มีข้อสงสัยว่าระบบตัดสินจากตัวแปรอะไรบ้าง และระบบไปดึงข้อมูลส่วนตัวใดขึ้นมาตัดสินใจบ้าง

ระบบชำระเงิน Alipay เป็นอีกระบบที่ชาวจีนใช้งานกันอย่างมาก ซึ่งการพึ่งพาอย่างเหนียวแน่นนี้ก็เป็นการบังคับกลายๆ ว่าผู้ใช้ต้องปฏิบัติตามนโยบายของบริการนั้น

การแบ่งปันข้อมูลขนาดมหึมาจากเอกชนเหล่านี้ ได้มีส่วนช่วยประเทศจีนในการควบคุมและติดตามการแพร่ระบาดของ COVID-9

สรุป

รายงานจาก Harvard Business Review สรุปว่า นโยบายการใช้เทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเพื่อรับมือกับ COVID-19 นั้น ตรงตามความต้องการสามประการในช่วงระยะการเติบโตแบบก้าวกระโดดของโรคระบาด อันได้แก่ ขนาด ความเร็ว และระดับของการบังคับใช้ จึงทำให้การใช้เทคโนโลยีเกิดประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาด

ประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวก็ยังคงเป็นความกังวลใหญ่ของสังคมในแถบตะวันตก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่อาจทำให้ใช้งานเทคโนโลยีการติดตามตัวได้ไม่เต็มที่ ในขณะที่ (อ้างอิงจากรายงาน) แถบเอเชียจะตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า

ทั้งนี้ก็เป็นคำถามที่ตอบยาก ว่าควรจะเลือก ‘privacy หรือ security’ …หรือสร้างความสมดุลให้ทั้งคู่

ภาพหัวข่าว: Macau Photo Agency บน Unsplash
แหล่งข้อมูล: Harvard Business Review

About author

A software developer who likes journalism
Related posts
Article

วิธีเปิด COVID-19 Exposure Notification บน Android

News

แอปเปิลจับมือกูเกิลพัฒนาระบบติดตามผู้ป่วย COVID-19 ข้ามระบบ

News

Google Fit ปรับหน้าตาเล็กน้อย, เพิ่ม Tile บน Wear OS

News

กูเกิลปล่อย 6 แอปฟรีช่วยลดการใช้มือถือ