Article

Minds คืออะไร โพสต์แล้วได้เงิน กับจุดขายด้านเสรีภาพ

ภายหลังจากที่มีกระแสความกังวลในความเป็นส่วนตัวบนทวิตเตอร์ ผู้ใช้ชาวไทยส่วนหนึ่งได้มองหาแพลตฟอร์มใหม่ที่พวกเขาคาดหวังว่าจะรักษาความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพได้มากกว่าทวิตเตอร์ ดินแดนแห่งใหม่นั้นคือ Minds

Minds คืออะไร

Minds เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ ‘โซเชียลเน็ตเวิร์ก’ เช่นเดียวกับบริการอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ สิ่งที่ Minds โฆษณาตัวเองคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความไม่ระบุตัวตน

Minds เองมีเสรีภาพในความคิดเห็นถึงขนาดว่าข้อความสร้างความเกลียดชัง (hate speech) ก็สามารถโพสต์ได้ เพราะ Minds เชื่อว่าจะเปลี่ยนความคิดคนได้ก็ต่อเมื่อได้มีพื้นที่ให้พูดคุยกัน นอกจากนี้ Minds ยังไม่มีการเก็บหมายเลข IP ด้วย

Hate Speech ก็สามารถโพสต์ได้

ในการสมัครสมาชิก ผู้ใช้เพียงกำหนดชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และกรอกอีเมลที่ใช้ ก็สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องระบุเบอร์โทรศัพท์หรือวันเกิดเพิ่มเติม ทั้งนี้ ความไม่ระบุตัวตนนี้ก็อาจนำไปสู่ปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ ได้อย่างง่ายดาย หรือเกิดบัญชี ‘ไอโอ’ ได้ง่ายเช่นกัน

ทั้งนี้ Minds ก็มีระบบรีพอร์ตโพสต์ไม่เหมาะสม ที่จะสุ่มผู้ใช้ 12 คนในระบบขึ้นมาโดยที่ผู้ใช้เหล่านั้นไม่ได้ติดตามผู้ใช้ที่เป็นเจ้าของโพสต์ดังกล่าว แล้วให้ทำการโหวตว่าโพสต์นั้นควรถูกลบหรือไม่ ถือเป็นระบบการควบคุมเนื้อหาโดยผู้ใช้ด้วยกันเอง

นอกจากการเน้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว Minds ยังมีระบบให้ผู้ใช้สามารถสนับสนุนเงิน (โทเค็น) ให้กันได้ ถ้าชอบโพสต์หรือเนื้อหาดังกล่าว เป็นการส่งเสริมโมเดลทางธุรกิจที่ให้ผู้ใช้สนับสนุนกันเอง

Minds ใช้งานอย่างไร

บทความนี้คงไม่สอนการใช้งานอย่างละเอียดทุกฟีเจอร์ของ Minds แต่จะมาช่วยให้ผู้อ่านทำความเข้าใจระบบการใช้งานหลักๆ ของ Minds เพื่อให้ไปต่อยอดและเรียนรู้เพิ่มเติมได้เองครับ

การสมัครสมาชิกนั้นให้ไปที่ Minds.com ได้เลย (คลิกที่ลิงก์นี้ ทั้งคุณและผู้เขียนจะได้ 1 โทเค็นเป็นการตอบแทน) จากนั้นกรอกชื่อผู้ใช้ที่ต้องการ กำหนดรหัสผ่าน และใส่อีเมล

หน้าสมัครสมาชิก

เมื่อสมัครสมาชิกเสร็จแล้วเราก็จะได้ ชาแนล ของเราขึ้นมา ชาแนลก็ไม่ใช่อะไรพิเศษเลย ชาแนลก็คือคำที่ Minds ใช้เรียก ‘โปรไฟล์’ นั่นเอง ผู้ใช้แต่ละคนก็มีชาแนลเป็นของตัวเอง ก็คือจะเป็นหน้าโปรไฟล์ของตนเองนั่นเอง ซึ่งในชาแนลเราก็จะสามารถปรับแต่งรูปโปรไฟล์ เปลี่ยนภาพปก แก้ไขข้อมูล ไบโอ ใส่ลิงก์ไปโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นได้

ชาแนลของตนเอง

เมื่อเราไปดูที่ชาแนลของผู้ใช้คนอื่น เราก็สามารถกด Subscribe เพื่อติดตามชาแนลนั้นได้ หรือก็คือการฟอลโลวนั่นเอง แล้วโพสต์ต่างๆ จากชาแนลนั้นก็จะปรากฏใน Newsfeed ของเรา

ในหน้า Newsfeed ก็จะเหมือนกับ News Feed หรือ Timeline บนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ นั่นคือเป็นกระดานข่าวที่แสดงโพสต์ของชาแนลที่เราติดตาม เราสามารถกดถูกใจ ไม่ถูกใจ แสดงความคิดเห็น และ Remind (แชร์) โพสต์นั้นได้ หรือจะสนับสนุนเงิน (Pay) เจ้าของโพสต์ก็ได้ ซึ่งเราจะพูดถึงในภายหลัง

การ Remind นั้นอาจจะใช้คำที่สับสนหน่อย แต่มันก็คือการแชร์โพสต์นั่นเอง ซึ่งเราก็สามารถเขียนข้อความประกอบการแชร์ได้เหมือนบนเฟซบุ๊กและ (การโควต) ทวิตเตอร์เลย

Newsfeed

การเขียนโพสต์ เราสามารถอัปโหลดภาพประกอบได้ กำหนดหัวข้อ (title) ของโพสต์ได้ กำหนดลิขสิทธิ์ของโพสต์ได้ จำกัดการเห็นโพสต์เป็นเฉพาะผู้ที่ล็อกอินได้ และยังสามารถตั้ง ‘paywall’ กำหนดให้ต้องจ่ายเงินก่อนถึงจะเห็นโพสต์นี้ได้

หน้าต่างสร้างโพสต์

ในหน้า Discovery ก็จะคล้ายกับทวิตเตอร์ที่แสดงแฮชแท็กและประเด็นที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้ เราสามารถกดเข้าไปเพื่อดูโพสต์ต่างๆ ในแฮชแท็กนี้ รวมทั้งชาแนลและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับแฮชแท็กนี้ได้

ผู้ใช้สามารถสร้างกลุ่ม (Group) หรือเข้าร่วมกลุ่มได้ กลุ่มต่างๆ ก็มีทั้งกลุ่มสาธารณะและกลุ่มปิด โดยจะสามารถค้นหาได้จากหน้า Discovery และ Discover Groups

ในแต่ละกลุ่ม ผู้ใช้จะสามารถโพสต์ได้ สามารถแชตกันได้สดๆ ในห้องแชตรวม และสามารถวิดีโอคอลกันได้

‘สายฟ้า’ และ Minds Token คืออะไร

ส่งโทเค็นให้ผู้ใช้คนอื่น

ผู้ใช้ Minds สามารถสนับสนุนผู้ใช้คนอื่นๆ ได้ด้วยการส่ง Minds Token ไปให้ผู้ใช้รายนั้น หรือจะส่งเป็นเงินดอลลาร์โดยตรง หรือเงินคริปโตอย่าง Ethereum และ Bitcoin ก็ได้ ด้วยการกดปุ่ม Wire หรือไอคอนสายฟ้า

สำหรับ Minds Token นี้จะสามารถใช้ในการโปรโมตโพสต์ (boost) เพื่อให้คนเห็นมากขึ้นได้ โดย 1 โทเค็นจะกระจายโพสต์ของเราเพิ่มไปได้อีก 1,000 คน คล้ายกับการโฆษณาโพสต์ และสามารถใช้โทเค็นในการอัปเกรดชาแนลเป็นแบบ Pro หรือ Plus ได้ เพื่อเพิ่มฟีเจอร์เช่นการตกแต่งชาแนล การจำกัดคีย์เวิร์ด เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถรับโทเค็นได้จากการใช้งาน Minds ด้วย เช่น กดไลก์ คอมเมนต์โพสต์ เข้ามาใช้งานในแต่ละวัน เป็นต้น ซึ่งโทเค็นเหล่านี้ก็จะสามารถนำไปใช้งานได้เช่นกัน

หาเงินจากโพสต์

ผู้ใช้ Minds แบบ Pro จะสามารถสร้างรายได้จากเนื้อหาของตนเองได้ ทุก 1,000 วิวของโพสต์จะสร้างรายได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 5 ดอลลาร์เมื่อมียอดวิวระหว่าง 1 แสนถึง 1 ล้านวิวต่อเดือน

นอกจากนี้ผู้ใช้ Minds แบบ Pro ยังได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 25 จากการแนะนำผู้ใช้คนอื่นให้อัปเกรดเป็น Pro ด้วย และสำหรับการแนะนำผู้ใช้อื่นเข้ามาใช้งานในแบบธรรมดา จะได้รับเงิน 10 เซ็นต์

รายได้เหล่านี้จะสามารถเบิกออกมาได้เมื่อถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 100 ดอลลาร์

สรุป

Minds ถือเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กหนึ่งที่โฆษณาด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่ใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ในการขายโฆษณา แต่มีการหารายได้ผ่นการขายโทเค็นและการขายฟีเจอร์ที่มากขึ้น ผู้ใช้จะสามารถใช้งานได้โดยไม่มีการระบุตัวตน นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้ได้โดยตรงจากในแพลตฟอร์มผ่านการสร้างเนื้อหาด้วย

นโยบายความเป็นส่วนตัวของ Minds ระบุว่า Minds จะไม่มีการส่งข้อมูลของผู้ใช้ให้บุคคลใด ยกเว้นในกรณีที่ต้องทำตามกฎหมายหรือเนื้อหาที่โพสต์อาจสร้างอันตรายแก่บุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม Minds ไม่ได้มีการเก็บหมายเลข IP ที่ผู้ใช้ใช้งาน และก็ไม่มีการร้องขอหมายเลขโทรศัพท์หรือชื่อจริงแต่อย่างใด

About author

A software developer who likes journalism
Related posts
Android AppsApp ReviewsiOS Apps

Locket: ถ่ายรูปไปโผล่บนมือถือเพื่อน

News

Twitter เปิดให้ใช้ ‘Circle’ แล้ว ทวีตให้เห็นแค่ ‘Close Friends’

News

ทวิตเตอร์ปิดบัญชี IO เชื่อมโยงกองทัพไทย 926 บัญชี เผยแพร่ 2 หมื่นทวีต

News

ทวิตเตอร์ตั้งเวลาทวีตได้แล้ว