Article

รีวิว iPad กับการใช้เรียน พร้อมแอปน่าสนใจ

สมัยนี้มีนักเรียน-นักศึกษาเยอะมากที่ใช้ iPad ประกอบการเรียน ไม่ว่าจะเรียนในสาขาใดก็ตาม ด้วยความสะดวกในการพกพาและจดเลคเชอร์ บทความนี้จะมาแนะนำกันครับว่าในด้านการเรียน iPad จะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

การจดเลคเชอร์

แน่นอนว่าหลายคนคงเอา iPad มาก็เพื่อจดเลคเชอร์เป็นหลัก ซึ่งก็ใช้คู่กับ Apple Pencil นั่นเอง ปัญหาหนึ่งที่ผมเจอจากการจดด้วยกระดาษก็คือพอเราจดเสร็จแล้ว แล้วอยากจะกลับมาขยายความเพิ่ม หรืออาจารย์กลับมาพูดเพิ่มเติมตรงหัวข้อนั้น มันก็ไม่มีที่แล้ว อีกอย่างก็คือจะลบจะแก้ไขก็ลำบาก บวกกับความขี้เกียจเดินไปหยิบสมุดออกมาจากกระเป๋าเวลาอยู่ที่บ้านด้วยแล้ว ทำให้ตัดสินใจว่าจะจดแบบดิจิตอลนี่แหละ

Notability
Notability

พอเปลี่ยนมาจดเลคเชอร์แบบดิจิตอลแล้วเนี่ย เวลาจะย้ายข้อความก็ทำได้ง่าย ทีแรกเขียนไว้ตรงนี้ เดี๋ยวอยากจะย้ายไปอีกตำแหน่งก็ทำได้ นอกจากนี้ยังไฮไลท์หรือเปลี่ยนสีปากกาได้สะดวกด้วย จะหารูปมาแทรกก็ทำได้ จะส่งให้เพื่อนก็ได้อีก ที่สำคัญก็คือลดการใช้กระดาษ สามารถเอาไฟล์สไลด์อาจารย์มาเขียนโน้ตได้เลย ไม่ต้องปริ๊นท์ และโน้ตทั้งหมดยังอยู่บนคลาวด์ เข้าไปอ่านได้ทุกที่ ไม่ต้องพกสมุดหลายเล่มเวลาจะเอาไปอ่านนอกบ้านด้วย

แอปที่ใช้จดเลคเชอร์ก็มีอยู่หลายแอปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Notability, GoodNotes, Squid, OneNote ซึ่งแอปเหล่านี้ก็มีคุณสมบัติคล้ายกันอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็รองรับการเก็บข้อมูลลงคลาวด์อย่าง Google Drive ด้วย

ส่วนตัวแล้วผมใช้ Notability เนื่องจากสมัยเรียนมัธยม อาจารย์มักจะเอา iPad มาสอนแล้วต่อภาพออกจอในห้อง แล้วเขาใช้แอป Notability สอน (วิชาภาษาอังกฤษ มาสเตอร์ออดโด้ครับ เผื่อมีเพื่อนมาอ่าน 😂) บวกกับชอบไอคอนของ Notability ก็เลยมาลงเอยที่แอปนี้นั่นเอง

สำหรับ Notability นั้นก็มีความสามารถหลากหลายตามที่กล่าวมา สามารถซูมเข้าไปเป็นกรอบเพื่อเขียนในพื้นที่เล็กๆ ได้ สามารถอัดเสียงแล้วพอกดเล่นเสียงที่อัดไว้ บริเวณที่เราเขียน ณ ตอนที่อัดเสียงตอนนั้นก็จะถูกไฮไลต์ไว้ด้วย และสามารถจัดกลุ่มวิชาได้ด้วย (เช่นรวมเป็นเทอม)

การทำงานเอกสารและสไลด์

งานเอกสารและพรีเซนเทชันก็มีแอปให้เลือกหลายแอป ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Office (Word-Excel-PowerPoint), Apple Pages-Numbers-Keynote หรือ Google Docs-Sheets-Slides เป็นต้น งานที่เราต้องทำร่วมกับคนอื่นก็แนะนำว่าทำใน Microsoft Office จะสะดวกกว่า เพราะมีแอปทั้งบนวินโดวส์ แมค เว็บ แอนดรอยด์ และ iOS

Google Docs ก็เหมาะกับการทำงานร่วมกับคนอื่นเช่นกัน เพราะมีดีเลย์ที่น้อยกว่า Office แก้งานกันก็จะเห็นได้ทันที อย่างไรก็ตาม ถ้าเอกสารมีโครงสร้างซับซ้อนมากก็จะไม่สะดวกเพราะฟีเจอร์ยังน้อยกว่า Office แต่ถ้าเป็นงานพรีเซนเทชัน Google Slides จะเหมาะสมมาก เพราะพรีเซนเทชันทั่วไปก็ไม่ได้ซับซ้อนอยู่แล้ว

งานส่วนตัวหรือที่ทำคนเดียว ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาแก้ ปกติแล้วผมจะทำบน Pages, Keynote, Numbers เพราะพอใช้งานบนคอมฯ แล้ว โปรแกรมค่อนข้างจะทำงานได้เร็วกว่าตระกูล Microsoft Office

Pages
Pages

ไฟล์งานต่างๆ เหล่านี้ผมเก็บไว้บนคลาวด์อยู่แล้ว เช่น Microsoft Office ก็เก็บไว้ใน OneDrive (หรือ SharePoint ถ้าทำงานกลุ่ม) ส่วน Pages ก็อยู่ใน iCloud และแน่นอนว่า Google Docs อยู่ใน Google Drive

โดยรวมแล้วถือว่าสามารถใช้ iPad ทำงานเอกสารต่างๆ ได้ แต่หากเป็นเอกสารที่ซับซ้อนอย่างวิทยานิพนธ์หรืองานที่ต้องมีการอ้างอิงข้อมูลจากหลายแหล่ง มีการจัดการบรรณานุกรม เป็นต้น การทำในคอมพิวเตอร์ยังคงสะดวกกว่ามาก

การพรีเซนต์งาน

ทำพรีเซนเทชันเสร็จแล้วก็อาจจะต้องเอาไปพรีเซนต์ด้วย ซึ่ง iPad ก็รองรับการต่อภาพออกภายนอก ไม่ว่าจะเป็น HDMI, VGA หรือ AirPlay ก็ทำได้

แอปอย่าง Keynote นั้น เวลาต่อจอและเข้าสู่โหมดพรีเซนต์แล้ว หน้าจอบน iPad ก็จะแสดงเวลาที่ผ่านไป แสดงสไลด์ถัดไป โน้ตต่างๆ เป็นต้น หรือจะแตะจอค้างไว้เพื่อจำลองพอยน์เตอร์เลเซอร์ก็ได้ ถือว่า iPad สามารถใช้ในการพรีเซนต์ได้

การจัดการไฟล์

ในจุดนี้อาจจะดูงงๆ สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ iOS เป็นประจำอย่างผม การจัดการไฟล์จะค่อนข้างแปลกกว่าบนคอมพิวเตอร์หรือบนแอนดรอยด์ เวลาจะดาวน์โหลดไฟล์เราจะต้องเลือก ‘Open in …’ เพื่อไปเปิดในแอปอื่นอีกที เช่น Documents, Files, Google Drive ซึ่งต่างจากในคอมฯ หรือแอนดรอยด์ที่ไฟล์จะถูกดาวน์โหลดตรงเข้าไปในโฟลเดอร์ Downloads เลย

หากต้องการจะนำไฟล์ไปใช้ในแอปอื่น ก็กดแชร์ แล้วไฟล์นั้นก็จะถูกทำสำเนาไว้ในแอปที่เราเลือก เพื่อใช้งานต่อไปอีกที ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คือไฟล์นั้นจะมีหลายก๊อปปี้ อาจจะเปลืองที่ แต่ก็จะทำให้แก้ไขไฟล์ในแต่ละแอปได้โดยไม่ต้องกลัวว่าไฟล์หลักจะถูกแก้ไขไปด้วย

ส่วนตัวแล้วผมจะดาวน์โหลดไฟล์ไปไว้ในแอป Documents by Readdle ทีเดียวเลย ไม่ผ่านแอป Files ก่อน เพราะแอป Documents สามารถแตกไฟล์ Zip ได้ สามารถดู PDF ได้ มีความสามารถหลายอย่าง และยังโอนไฟล์ไปที่คอมพิวเตอร์หรือเครื่องอื่นได้โดยอย่างไร้สายอีกด้วย

Documents by Readdle
Documents by Readdle

ถ้าไม่ใช้แอปภายนอกแล้ว การจัดการไฟล์บน iOS ยังถือว่าค่อนข้างจำกัด แอป Files ในเครื่องยังไม่สามารถสร้างโฟลเดอร์ภายในเครื่องได้เลย ต้องโหลดแอปอื่นมาใช้แล้วสร้างโฟลเดอร์ในแอปนั้น หรือไม่ก็ไปสร้างใน iCloud Drive แทน ซึ่งมีพื้นที่ฟรีให้ใช้งานเพียง 5 GB

ทั้งนี้เราไม่ได้จำเป็นต้องไปยุ่งกับการจัดการไฟล์บ่อยนัก

แอปอื่นๆ ที่ใช้

ซื้อ iPad มาทั้งทีก็ควรใช้ให้คุ้มค่า ถูกไหมครับ ผมขอแสดงเป็นข้อๆ ตามนี้เลยนะครับว่ามีแอปอะไรที่ผมใช้บน iPad บ้าง เฉพาะอันที่น่าสนใจนะ

  • Day One, Grid Diary: ใช้เขียนบันทึกประจำวัน หรือไดอารี่นั่นเอง
  • Google Keep: ใช้จดโน้ต รองรับเว็บและแอนดรอยด์ด้วย
  • Google News: ใช้อ่านข่าว
  • Google Play Books: ใช้อ่านหนังสือ
  • iStudiez Pro: ใช้จดการบ้าน ทำตารางเรียน
  • LastPass: ใช้จำชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของบริการต่างๆ รองรับวินโดวส์ แมค และแอนดรอยด์ด้วย
  • Microsoft To-Do: ใช้จดสิ่งที่ต้องทำ (to-do list) รองรับวินโดวส์ แอนดรอยด์ และเว็บด้วย
  • Medibang Paint, Infinity Painter, Vectornator: วาดรูป
  • Raindrop.io: ใช้เก็บลิงก์ที่น่าสนใจ เช่น ข่าว รองรับเว็บ วินโดวส์ แมค และแอนดรอยด์ด้วย
  • Scanner Pro: ใช้สแกนกระดาษด้วยกล้อง iPad
  • Sci:Pro Calculator: เครื่องคิดเลขแบบ scientific (เพราะต้องใช้โมดูโล)

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ที่สนใจใช้ iPad ในการเรียน พอเห็นภาพขึ้นมาได้ว่าเหมาะกับตัวเองหรือไม่นะครับ

About author

A software developer who likes journalism
Related posts
News

iPad Air (2022) มีอะไรใหม่

News

เปิดตัว iPad Pro 2020 ใช้ชิป A12Z, LiDAR และมีกล้องใหม่

App ReviewsiOSiOS Apps

รีวิว Notability แอปจดเลคเชอร์บน iPad

News

Apple ออก iPad Air และ iPad Mini 2019 รองรับ Pencil ทั้งคู่